EN TH

กลุ่มบีอีซี เล็งเห็นว่าการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้การขับเคลื่อนธุรกิจไปในแนวทางแห่งความยั่งยืน

ซึ่ง “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เพียงแค่ระยะเวลา แต่ยังหมายถึงการมีรากฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมที่จะเติบโตคู่ไปกับสังคมไทยอย่างมั่นคง ประกอบกับการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น บริษัทจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้บริหารจากสายงานต่างๆ รวม 11 คน มีกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ เป็นประธานกรรมการ นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้คัดเลือกและแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละสายงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร

โครงสร้างคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประกอบด้วยกรรมการจากสำนักต่าง ๆ 16 ท่าน ดังต่อไปนี้

  1. กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ (ประธานคณะกรรมการ)
  2. กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจบีอีซี สตูดิโอ
  3. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักผลิตรายการ
  4. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักผังรายการ
  5. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักการเงินและบัญชี
  6. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักดิจิทัลและกลยุทธ์สื่อใหม่
  7. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักบริหารทรัพยากร
  8. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักการตลาด
  9. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักตรวจสอบภายในและกำกับความเสี่ยง
  10. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักกิจการและสื่อสารองค์กร
  11. รองกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักการพาณิชย์
  12. ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส/ผู้บริหารสูงสุด สำนักเทคนิคโทรทัศน์
  13. ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักธุรกิจต่างประเทศ
  14. ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสูงสุด สำนักข่าว
  15. เลขานุการบริษัท
  16. ผู้จัดการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (เลขานุการคณะกรรมการ)
หน้าที่ของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  1. กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
  2. กำกับ ดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  3. ออกคำสั่งและประกาศเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. สนับสนุนการจัดทำรายงานประจำปี 56-1 One Report ในส่วนงานที่รับผิดชอบ
  5. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีตัวแทนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) (กลุ่มบีอีซี) กำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2564 โดยคำนึงถึงการเติบโตของผลประกอบการไปพร้อมกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นแบบอย่างที่ดีครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคม ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งยังสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรนำนโยบายดังกล่าวไปปรับใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบีอีซีอีกด้วย

นโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มบีอีซี ประกอบด้วยนโยบาย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์และสื่อสารมวลชนที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม ตอบสนองความต้องการของลูกค้า (2) ด้านการดูแลรักษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ด้วยการสร้างโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเป็นผู้นำพาบริษัทไปสู่เป้าหมายภายใต้กรอบแห่งความยั่งยืน (3) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคม โดยคำนึงถึงความต้องการของสังคมและตอบสนองอย่างมีกลยุทธ์ และ (4) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความรู้ความเข้าใจผ่านคอนเทนต์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

กลุ่มบีอีซี ตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่การแสวงหาผลกำไรหรือความสำเร็จทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม รับผิดชอบต่อลูกค้า ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ดูแลชุมชน สังคม เพื่อสามารถขับเคลื่อนกลุ่มบีอีซีให้เติบโตไปพร้อมกับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนโดยแท้จริง

นโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “บริษัท”) กำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการคำนึงถึงการเติบโตของผลประกอบการไปพร้อมกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นแบบอย่างที่ดีครอบคลุมมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยมีแนวนโยบายทั้งสี่ด้านดังนี้

ด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ

บริษัทมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจผู้ผลิตคอนเทนต์และสื่อสารมวลชนที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

  1. ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล (โดยมีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ นโยบายต่อต้านการทุจริตที่เข้มงวด และการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า)
  2. ยึดถือผู้ชมเป็นศูนย์กลางในการส่งมอบคอนเทนต์ที่ดีที่สุด ทั้งละคร ข่าว วาไรตี้ ตอบสนองความต้องการของผู้ชมหลากหลายกลุ่มในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อันจะนำมาซึ่งรายได้และส่วนแบ่งทางการตลาด
ด้านการดูแลรักษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคล

บริษัทมุ่งมั่นในการสร้างโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อที่พนักงานจะเป็นผู้นำพาบริษัทไปสู่เป้าหมายภายใต้กรอบแห่งความยั่งยืน

  1. ดูแลและปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ เพศ ศาสนา อายุ สถานะทางสังคม รสนิยมทางเพศ หรือความพิการ เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ
  2. พัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานอยู่เสมอด้วยการจัดฝึกอบรม การให้โอกาสเรียนรู้ในการปฏิบัติงาน เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
  3. ส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  4. ดูแลและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคม

บริษัทมุ่งมั่นสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยคำนึงถึงความต้องการของสังคมและตอบสนองอย่างมีกลยุทธ์ รวมถึงการบูรณาการร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

  1. นำเสนอข่าวสารและติดตามข้อเท็จจริงอย่างทันเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้ชมได้รับทราบความเป็นไปของสังคม
  2. นำเสนอข่าวสาร และรายการที่มีเนื้อหาสอดแทรกการส่งเสริมสังคม การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แรงบันดาลใจในการสร้างงานสร้างอาชีพแก่ประชาชน เพื่อสะท้อนข้อคิดและแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคมไทย
  3. เป็นที่พึ่งพาของสังคมโดยการสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ที่มีแนวคิดในการบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติหรือความเดือดร้อนอื่น ๆ
การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัทมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการให้ความรู้ความเข้าใจผ่านคอนเทนต์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

  1. ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
  2. นำเสนอรายการที่สอดแทรกเรื่องความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
  3. สนับสนุนและให้ความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ที่มีแนวคิดในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ บริษัทได้แสดงความมุ่งมั่นต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบายต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

  • นโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
  • นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
  • นโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • นโยบายบริหารความเสี่ยง
  • นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นโยบายและแนวปฏิบัติข้างต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในเจตนารมณ์ของบริษัท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรนำนโยบายดังกล่าวไปปรับใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัทด้วย เพื่อก้าวเดินต่อไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

นายสมชัย บุญนำศิริ
ประธานกรรมการ
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)

นโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ของ กลุ่มบีอีซี

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (“กลุ่มบีอีซี” หรือ “บริษัทฯ”) ได้มีการประกาศ นโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (“นโยบายฯ”) เพื่อใช้สื่อสารและเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร โดยได้มีการประกาศนโยบายฯ ฉบับแรก ไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563

ต่อมา บริษัทฯ พบว่าบริบทสากลในการดำเนินการเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้มีการให้ความสำคัญต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น กลุ่มบีอีซี จึงเห็นควรดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมนโยบายฯ เพื่อให้มีความเหมาะสม เฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามบริบทที่เป็นสากล และครอบคลุมภารกิจในเรื่องการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ กลุ่มบีอีซีได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และมีส่วนช่วยให้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง

โดยนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบีอีซี มีใจความดังนี้

  1. การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก การดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงบุคคลที่ทำงานสนับสนุนให้กับกลุ่มบีอีซี
  2. บูรณาการแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐาน กฎหมาย ข้อบังคับ ข้อกำหนด และเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  3. สื่อสารและจัดกิจกรรมภายในองค์กร เพื่อสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมถึงบุคคลที่ทำงานสนับสนุนให้กับกลุ่มบีอีซี
  4. สื่อสารสู่สังคมผ่านคอนเทนต์ในทุกแพลตฟอร์มของบริษัทฯ ทั้งการให้ความรู้ทางตรงและการสอดแทรกในเนื้อหาของรายการ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม
  5. ดำเนินธุรกิจให้มีผลประกอบการที่ดี ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ
  6. ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบด้านแรงงาน ภายใต้กรอบแห่งกฎหมายไทย
  7. ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมทำงานจิตอาสา เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
  8. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมไทย และเป็นที่พึ่งพาได้ของสังคม ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ประกาศ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566

นายฉัตรชัย เทียมทอง
ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน